เคล็ดลับสุดปัง! การทำพอร์ตโฟลิโอเข้ามหาลัย
การทำ Portfolio ที่ดีสำหรับการยื่นเข้ามหาวิทยาลัยน้อง ๆ ควรสะท้อนถึงความสามารถ ประสบการณ์ และคุณสมบัติที่โดดเด่นของตัวน้อง ๆ เอง โดยควรมีการจัดระเบียบที่ชัดเจน อ่านง่าย และน่าสนใจ วันนี้พี่ ๆ ได้รวบรวมเคล็ดลับสุดปัง! ที่จะพาน้อง ๆ ปั้นพอร์ตออกมาให้โดนใจคณะกรรมการ
1. มีโครงสร้างที่ชัดเจน
Portfolio ของน้อง ๆ ต้องมีโครงสร้างที่ชัดเจนค่ะ ซึ่งโครงสร้างหลัก ๆ มีดังนี้ คือ
หน้าแรก Portfolio ของน้อง ๆ ควรมีปกที่สวยงามและสะอาดตา ระบุข้อมูลพื้นฐาน เช่น ชื่อ-นามสกุล ระดับการศึกษา และชื่อคณะที่ต้องการสมัคร เพื่อให้คณะกรรมการสามารถระบุตัวผู้สมัครได้ง่ายขึ้น ต่อมา คือ SOP หรือ Statement of Purpose ทริคที่พี่แนะนำสำหรับการเขียน SOP ให้แบ่งออกเป็น อดีต น้อง ๆ เรียนอะไรมาได้ทำอะไรมาบ้าง ปัจจุบัน น้อง ๆ กำลังทำสิ่งใดอยู่มีเป้าหมายจะทำอะไร และ อนาคต น้อง ๆ จะทำอะไร มีภาพอะไรในการวางแผนชีวิตและสิ่งที่น้อง ๆ จะลืมไม่ได้เลยคือ ประวัติส่วนตัว ให้ระบุข้อมูลส่วนตัวสั้น ๆ ความสามารถพิเศษ ความสนใจ หรือเป้าหมายในอนาคต และใส่เนื้อหาที่สำคัญ เช่น ผลงานหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคณะที่จะสมัคร พร้อมอธิบายบทบาทและสิ่งที่น้อง ๆ ได้รับจากประสบการณ์นั้น ๆ
2. เน้นผลงานที่เกี่ยวข้องกับคณะที่จะสมัคร
เช่นว่า หากน้องต้องการสมัครในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ก็ควรที่จะมีผลงานวาดรูป งานออกแบบ หรือโปรเจกต์ที่เคยทำไว้เพื่อให้กรรมการเห็นถึงศักยภาพและทักษะที่ตรงกันกับคณะค่ะ หรือ ถ้าน้องต้องการสมัครเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือกลุ่มคณะวิทยาศาสตร์ ก็ควรมีผลงานการทดลอง การเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ หรือการทำโปรเจกต์วิจัย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสนใจด้านนี้ค่ะ
3. แสดงถึงทักษะและความสำเร็จ
ให้น้อง ๆ ใส่รางวัลหรือการรับรองที่เกี่ยวข้องลงไปด้วยค่ะ เช่น รางวัลด้านวิชาการ การแข่งขัน หรือเกียรติบัตรที่เคยได้รับ โดยเรียงลำดับจากสำคัญมากที่สุดไปน้อยที่สุด
หรือถ้าหากมีการฝึกอบรมในทักษะที่เกี่ยวข้องกับคณะ เช่น การฝึกภาษา การอบรมโปรแกรมที่ใช้เฉพาะทาง ให้น้อง ๆ ระบุลงไปใน Portfolio ด้วยค่ะ
4. แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์และตัวตนของผู้สมัคร
Portfolio ที่ดีควรสะท้อนถึงตัวตนของน้อง ๆ เช่น การใช้ดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ โทนสี หรือฟอนต์ที่เลือกให้เข้ากับสไตล์ของเรา ซึ่งจะช่วยให้กรรมการเห็นถึงความแตกต่างและน่าจดจำ
5. จัดเรียงและนำเสนออย่างมีระเบียบ
ให้น้อง ๆ แบ่ง Portfolio ของตนเองออกเป็นหมวดหมู่ที่ชัดเจน และเรียงลำดับอย่างมีเหตุผล อย่างเช่น จากผลงานล่าสุดไปยังผลงานเก่าหรือเรียงตามประเภทผลงานที่เกี่ยวข้องกับคณะ
และหลีกเลี่ยงการใช้ฟอนต์ที่เยอะหรือการใช้สีที่หลากหลายจนเกินไป เพราะอาจทำให้ดูรกและเหล่าคณะกรรมการจะอ่านยากค่ะ
6. ใส่ภาพประกอบและคำอธิบายที่กระชับ
พี่ iBuddy+ แนะนำให้น้อง ๆ เลือกใช้ภาพที่มีความคมชัดและอธิบายผลงานอย่างกระชับ เน้นสรุปสิ่งที่ทำ จุดประสงค์ของงาน ความสำเร็จ หรือทักษะที่ได้รับ โดยไม่ต้องลงรายละเอียดมากจนเกินไป
7. ใส่กิจกรรมพิเศษและงานอาสาสมัคร
การที่น้อง ๆ เข้าร่วมกิจกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะทางสังคม หรือการทำงานเป็นทีม เช่น การเข้าร่วมค่ายอาสา การเป็นสตาฟในกิจกรรมต่าง ๆ จะช่วยแสดงให้เห็นว่าตัวของเรามีทักษะการทำงานกับผู้อื่นได้ค่ะ
8. เขียนแสดงจุดมุ่งหมายและแรงบันดาลใจในการสมัคร
การเขียนบทสรุปหรือ Motivation Statement สั้น ๆ เพื่ออธิบายเหตุผลว่าทำไมน้อง ๆ ถึงต้องการเข้าศึกษาในคณะเหล่านั้น เช่น ความสนใจที่เกี่ยวข้องกับสาขานี้ ความคาดหวังในอนาคต รวมถึงเป้าหมายในการเรียนจบ
9. จัดทำให้เป็นเอกสารที่อ่านง่ายและเป็นมืออาชีพ
ให้น้อง ๆ ใช้ฟอร์แมตที่มีความเป็นมืออาชีพ คือ ไม่เกิน 10-15 หน้าและตรวจทานคำสะกด หรือไวยากรณ์ให้ถูกต้อง เพื่อสร้างความประทับใจที่ดีในการอ่านให้กับคณะกรรมการ
10. ทำให้น่าประทับใจในรูปแบบดิจิทัล (ถ้าต้องส่งออนไลน์)
สำหรับ Portfolio ที่ต้องส่งออนไลน์ น้อง ๆ ควรทำเป็นไฟล์ PDF ที่มีความคมชัด รองรับการเปิดดูบนหน้าจอ และมีขนาดไม่ใหญ่จนเกินไป เพื่อให้คณะกรรมการดาวน์โหลดและเปิดดูได้สะดวก
การสร้าง Portfolio ที่ดีนั้นต้องใช้เวลาและความคิดในการคัดเลือกผลงานที่สะท้อนถึงตัวตน ของน้อง ๆ ได้ดีที่สุด การนำเสนอให้ครบถ้วนและเป็นระเบียบจะช่วยให้ผลงานของน้อง ๆ มีความโดดเด่น ในสายตาของคณะกรรมการ สู้ ๆ ตั้งใจทำกันนะคะ พี่ ๆ iBuddy+ เป็นกำลังใจให้ค่ะ!